อรรถาธิบาย ของ ความโปร่งใส (การเมือง)

ตั้งแต่โบราณกาลมาแล้ว ที่หัวใจของการรักษาอำนาจทางการเมืองอยู่ที่การครอบครองข้อมูลข่าวสาร ซึ่งข้อมูลในที่นี้มีหมายความรวมถึงความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง ด้วยเหตุนี้ในสมัยโรมันจึงเป็นยุคที่ห้ามไม่ให้มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับกฎหมายมหาชน เนื่องจากเป็นความรู้เกี่ยวกับกลไก และสถาบันทางการเมืองการปกครองของรัฐ (บวรศักดิ์, 2554: 5-6)[2] ดังนั้น ด้วยความที่ผู้ปกครองตั้งแต่สมัยโบราณใช้อำนาจปกครองโดยที่ผู้ใต้ปกครองไม่สามารถเข้าใจ และมีความรู้เกี่ยวกับกลไกการทำงานของรัฐบาล ผู้ปกครองจึงไม่จำเป็นจะต้องได้รับความนิยมชมชอบ (popularity) หรือ ความยินยอมจากผู้ใต้ปกครอง แต่จะปกครองด้วยความกลัว (ของผู้ถูกปกครอง) และความรุนแรงแทนนั่นเอง

การปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลและการผูกขาดอำนาจการเมือง เริ่มเปลี่ยนแปลงไปหลังจากเกิดสงครามกลางเมืองในอังกฤษ (ค.ศ. 1642-1649) ที่ทำให้ประชาชน หรือ ผู้ถูกปกครองต่างตระหนักในความจำเป็นของความโปร่งใสทางการเมือง หรือ อีกนัยหนึ่งก็คือ ศักยภาพในการตรวจสอบรัฐบาลไม่ว่าจะโดยรัฐสภา หรือ โดยประชาชน ซึ่งจิตวิญญาณของหลักการดังกล่าวนี้ได้สะท้อนออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมภายหลังจากการปฏิวัติอเมริกา (ค.ศ. 1776) และการปฏิวัติฝรั่งเศส (ค.ศ. 1789) พร้อมๆกันกับการเกิดลัทธิรัฐธรรมนูญนิยม ที่ในทางกฎหมายมหาชน แนวความคิดความโปร่งใสของรัฐบาลในช่วงสงครามกลางเมืองของอังกฤษได้นำไปสู่การวางกลไกทางสถาบันการเมืองในรัฐธรรมนูญที่เรียกว่า “การตรวจสอบถ่วงดุล” (checks and balances) ที่ซ้อนอยู่ภายใต้หลักการแบ่งแยกอำนาจ (separation of powers) ของทั้งสหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส ซึ่งเป็นแนวคิดที่สนับสนุนหลักการความโปร่งใสทางการเมืองที่ได้รับอิทธิพลมาจากกลไกการถ่วงดุลอำนาจตามระบบรัฐสภาของอังกฤษที่ฝ่ายบริหารจะต้องถูกตรวจสอบการทำงานโดยฝ่ายนิติบัญญัติอยู่เสมอ (Wormuth, 1949: 72)[3] ดังนั้น กลไกการตรวจสอบถ่วงดุลของทั้งสามอำนาจ นอกจากจะเป็นการทำให้แต่ละฝ่ายจะต้องทำงานอย่างเปิดเผยเพราะจะถูกตรวจสอบจากอีกสอง อำนาจแล้ว ยังจะต้องเปิดเผยให้ประชาชนซึ่งเป็นแหล่งที่มาอันชอบธรรมของอำนาจทางการเมืองได้รับรู้อีกด้วย

ทว่าในการปกครองสมัยใหม่ ยังคงมีพื้นที่ที่เรียกว่า “ความลับของทางการ” ซึ่งยังเป็นข้อยกเว้นของหลักความโปร่งใสทางการเมือง เนื่องจากบางครั้ง การปกครองจำเป็นต้องอาศัยความลับในการดำเนินการต่างๆ ที่ยังไม่อาจเปิดเผยให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบได้จนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสมด้วยเหตุผลสำคัญหลายๆประการตั้งแต่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยไปจนถึงเพื่อผลประโยชน์แห่งรัฐ ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับการที่พนักงานสอบสวนไม่อาจเปิดเผยข้อเท็จจริงให้สื่อทราบได้เพราะจะเป็นการทำให้สูญเสียรูปคดีไป ด้วยเหตุนี้ทุกๆรัฐบาลในโลกสมัยใหม่จึงยังคงสงวนพื้นที่ที่เรียกว่า “ความลับของทางการ” เอาไว้ไม่มากก็น้อย

แต่ในบางครั้งฝ่ายผู้ปกครอง หรือ รัฐบาลเองก็ใช้ข้ออ้างเรื่องความลับของทางการมากีดกัน และขัดขวางประชาชนในการรับรู้ข้อมูลทางการเมืองการปกครองเพื่อที่จะเอาเปรียบ หรือ ซ่อนเร้นบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ชอบมาพากล ด้วยเหตุนี้ในปัจจุบันจึงได้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้ลดพื้นที่ “ความลับของทางการ” ลง และจัดระบบของการเข้าถึงข้อมูล และเอกสารของทางการโดยประชาชนอย่างเป็นระบบ เช่น การออกรัฐบัญญัติสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล (Rights to Information Act : RTI) ของอินเดียในปี ค.ศ. 2005 และรัฐบัญญัติอิสรภาพในการเข้าถึงข้อมูล (Freedom of Information Act : FOIA) ของสหรัฐฯ ที่บังคับให้หน่วยงานของรัฐบาลจะต้องเปิดเผยข้อมูลในการบริหารบ้านเมืองเมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นอกจากนี้ยังมีกฎหมายลูกที่บังคับให้หน่วยงานของรัฐจะต้องจัดทำสิ่งพิมพ์ทางการเหล่านี้ให้เป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ผ่านการเชื่อมต่อเครือข่ายไร้สายอินเทอร์เน็ต

นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีองค์กรที่เรียกว่า "องค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ" (Transparency International) ที่จะคอยจัดทำดัชนีภาพลักษณ์ของการทุจริตคอร์รัปชั่นออกมาเป็นรายงานประจำปีทุกๆ ปี เพื่อให้คนจากทั่วโลกสามารถรับรู้ถึงพัฒนาการ และความเป็นไปของความโปร่งใสทางการเมืองของรัฐบาลจากทั่วทุกมุมโลกอีกด้วย นอกจากนี้ “สื่อ” (media) ที่เสรี และเป็นมืออาชีพ ก็เป็นกลไกที่สำคัญอีกประการหนึ่งในระบอบเสรีประชาธิปไตยสมัยใหม่ ที่จะช่วยทำหน้าที่ตรวจสอบความโปร่งใสทางการเมือง และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนของรัฐได้จากการรายงาน และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง และเที่ยงตรงอย่างปราศจากอคติ และการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง[4]